เมนู

[987] ดูก่อนสุตนะ ประโยชน์ตามที่ท่านพูดถึง
ย่อมเจริญแก่เราทีเดียว เราอนุญาตแล้ว ท่าน
จงไปหามารดาโดยสวัสดีเถิด.
[988] ดูก่อนมาณพ ท่านจงเอาพระขรรค์, ฉัตร
และฉลองพระบาทไปเถิด มารดาของท่าน ก็จง
เห็นท่าน และท่านก็จงเห็นมารดา โดยสวัสดี
เถิด.
[989] ดูก่อนยักษ์ ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข
พร้อมกับญาติทั้งหมดเหมือนกัน เราได้ทั้ง
ทรัพย์ ทั้งได้ปฏิบัติตามพระราชดำรัส.

จบ สุตนชาดกที่ 3

อรรถกถาสุตนชาดกที่ 3



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
ภิกษุผู้เลี้ยงมารดา จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ราชา เต ภตฺตํ ดังนี้.
เรื่องจักมีชัดใน 3 ชาดก. แต่ในที่นี้มีดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนคร-
พาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคหบดีผู้ตกยาก. ญาติทั้งหลาย

ได้ขนานนามให้ท่านว่า สุตนะ. ท่านเติบโตแล้วได้รับจ้างเลี้ยงบิดา
มารดา เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ก็เลี้ยงมารดา. แต่ในเวลานั้น พระเจ้า-
พาราณสีได้ทรงเป็นผู้มีพระทัยฝักใฝ่ในการล่าเนื้อ. อยู่มาวันหนึ่ง
พระองค์เสด็จไปป่าไกลประมาณ 1 โยชน์ พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก
ตรัสสั่งให้บอกแก่ทุกคนว่า ถ้าเนื้อหนีออกไปทางที่ผู้ใดยืนอยู่ ผู้นั้น
ถูกปรับสินไหม ชื่อนี้. อำมาตย์ทั้งหลายได้พากันกั้นซุ้มถวายพระราชา
ในที่ที่เป็นทางเดิน. บรรดาเนื้อทั้งหลายที่ถูกพวกมนุษย์ล้อมที่อยู่ของ
เนื้อ ไล่ให้ลุกออกไปด้วยก้อนดินและท่อนไม้ ละมั่งตัวหนึ่ง วิ่งไปที่ที่
พระราชาประทับยืน. พระราชาหมายพระทัยว่า เราจักยิงมัน แล้วได้
ทรงยิงลูกศรไป. แต่เนื้อได้ศึกษามารยามาแล้ว รู้ลูกศรที่บ่ายหน้ามา
อย่างสบายมาก. จึงทำเป็นเหมือนต้องลูกศรล้มกลิ้งลง. พระราชาทรง
เข้าพระทัยว่า เนื้อถูกเรายิงแล้ว จึงทรงวิ่งไปเพื่อต้องการจับ. แต่เนื้อ
ลุกขึ้นวิ่งหนีไปโดยเร็วเหมือนลม. พวกอำมาตย์เป็นต้น ได้พากัน
เยาะเย้ยพระราชา. พระองค์จึงทรงติดตามเนื้อไปทัน ในเวลามันล้า
ทรงใช้พระขรรค์ฟันออกเป็น 2 ท่อน คล้องไว้ที่ท่อนไม้ท่อนหนึ่ง
เป็นเหมือนคานหามเสด็จมา ทรงแวะเข้าไปต้นไทรที่อยู่ใกล้ทาง ด้วย
พระดำริว่า เราจักพักผ่อนหน่อยหนึ่ง แล้วทรงม่อยหลับไป ก็ยักษ์
ชื่อมรรคเทพเกิดที่ต้นไทรนั้น ได้สิทธิที่จะกินสัตว์ตัวที่เข้าไปใต้ต้นไม้
นั้น จากสำนักท้าวเวสสุวัณ. มันจับพระหัตถ์พระราชาผู้ทรงลุกขึ้น
แล้วกำลังจะเสด็จไปไว้ โดยขู่ว่า หยุด หยุด ท่านเป็นภักษาหารของ
เราแล้ว.

พระราชาตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร ?
เราเป็นยักษ์ผู้เกิดขึ้นที่นี้ ได้สิทธิกินคนและสัตว์ผู้เข้ามาในที่นี้
ยักษ์ตอบ.
พระราชาทรงตั้งพระสติ แล้วตรัสถามว่า เจ้าจักกินเฉพาะวันนี้
หรือ ๆ จักกินเป็นประจำ.
เมื่อได้ก็จักกินเป็นประจำ มันตอบ.
พระราชาตรัสว่า วันนี้เจ้าจงกินเนื้อนี้ แล้วปล่อยเราไป ตั้งแต่
พรุ่งนี้ไป เราจะส่งคนมาให้ท่าน 1 คน พร้อมกับสำรับอาหาร 1 สำรับ.
ถ้าอย่างนั้นท่านอย่าลืมในวันที่ท่านไม่ได้ส่งคนมา ข้าพเจ้าจะ
กินตัวท่านเอง ยักษ์พูดย้ำ เราเป็นราชาเมืองพาราณสี ขึ้นชื่อว่า สิ่งไม่มี
ไม่มีสำหรับเรา พระราชาตรัสรับรอง.
ยักษ์รับปฏิญญา แล้วได้ปล่อยพระองค์ไป. พระองค์เสด็จเข้า
พระนคร แล้วตรัสบอกข้อความนั้นแก่อำมาตย์ ผู้แจ้งความ คือโฆษก
คนหนึ่ง แล้วตรัสถามว่า บัดนี้ เราควรจะทำอย่างไร ?
อำ. ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงทำการกำหนดวันหรือไม่ ?
รา. ไม่ได้ทำ.
อำ. พระองค์ทรงทำสิ่งที่ไม่สมควร แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น
พระองค์อย่าได้ทรงคิด คนในเรือนจำมีอยู่มาก.

รา. ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงทำงานนั้น เจ้าจงให้ชีวิตฉันไว้.
อำมาตย์รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมว่า สาธุ แล้วเบิกคนจากเรือนจำ
ให้แบกกับข้าวไปส่งยักษ์ทุกวัน โดยไม่ให้รู้เรื่องอะไรเลย. ยักษ์กิน
ภัตตาหาร แล้วก็กินคนด้วย. ต่อมาเรือนจำทั้งหลายเกิดไม่มีคน คือ
นักโทษ. พระราชา เมื่อไม่ได้คนนำสำรับกับข้าวไป ก็ทรงหวาดหวั่น
เพราะทรงกลัวความตาย. ลำดับนั้น อำมาตย์เมื่อจะทรงปลอบพระทัย
พระองค์ จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ คนมีความหวังในทรัพย์มีมากกว่า
คนมีความหวังชีวิต ข้าพระองค์จักให้วางห่อเงินพันกหาปณะไว้บนคอ
ช้าง แล้วให้เที่ยวตีกลองประกาศว่า ใครจักรับเอาทรัพย์นี้ แล้วถือเอา
ภัตตาหารไปให้ยักษ์ แล้วก็ให้ทำอย่างนั้น. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์
ได้ยินคำนั้นแล้ว คิดว่า เราเก็บรวบรวมเงินจากค่าจ้างได้มาสก 1 บ้าง
ครึ่งมาสกบ้าง เลี้ยงมารดาโดยยากลำบาก เราจักรับเอาทรัพย์นี้ให้มารดา
แล้วจักไปสำนักของยักษ์ ถ้าหากเราจักอาจทรมานยักษ์ได้ไซร้ ข้อนี้
จะเป็นกุศล แต่ถ้าจักไม่อาจไซร้ มารดาของเราก็จักมีชีวิตอยู่อย่างสบาย.
เขาทำความตกลงใจ แล้วจึงบอกข้อความนั้นให้มารดาทราบ ถูกมารดา
ห้ามถึง 2 ครั้งว่า อย่าเลยลูก แม่ไม่ต้องการทรัพย์ ครั้งที่ 3 ไม่บอก
กล่าวมารดาเลย บอกอำมาตย์ว่า นำมาเถิดพ่อมหาจำเริญ ทรัพย์ 1 พัน
ข้าพเจ้าจักนำภัตตาหารไปให้ยักษ์ ให้ทรัพย์แก่มารดา แล้วพูดว่า แม่
แม่อย่าคิดอะไร ผมจะทรมานยักษ์ ทำความสวัสดีแก่มหาชน แล้วจัก

กลับมา. ให้ดวงหน้าของคุณแม่ที่เปียกน้ำตา ยิ้มแย้ม ในวันนี้ทีเดียว
ไหว้แม่ให้เบาใจ แล้วไปราชสำนักกับราชบุรุษ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืน
อยู่. ต่อแต่นั้น ตัวเขา เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าหรือ
จักนำภัตตาหารไป ? จึงทูลว่า ใช่แล้ว พระพุทธเจ้าข้า.
รา. เธอควรจะได้อะไร ?
โพ. ข้าแต่สมมติเทพ ฉลองพระบาททองคำของใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท.
รา. เพราะเหตุไร ?
โพ. ข้าแต่สมมติเทพ ยักษ์นั้น จะได้กินเฉพาะคนที่ยืนอยู่บน
พื้นที่ภายใต้ควงไม้ของตน ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยืนบนพื้นที่ที่เป็นของ
ยักษ์นั้น แต่จักยืนอยู่บนฉลองพระบาท.
รา. ควรจะได้อะไร อย่างอื่นอีก ?
โพ. ฉัตรพระพุทธเจ้าข้า.
รา. ฉัตรนี้ เพื่อประโยชน์อะไร ?
โพ. ข้าแต่สมมติเทพ ยักษ์นั้น จะได้กินเฉพาะคนที่ยืนอยู่ภายใต้
ร่มไม้ของตน ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยืนอยู่ภายใต้ร่มไม้ แต่จักยืนอยู่
ภายใต้ร่มฉัตร.
รา. ควรจะได้อะไรอย่างอื่นอีก ?

โพ. ข้าแต่สมมติเทพ พระขรรค์ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท.
รา. จักมีประโยชน์อะไรด้วยพระขรรค์นี้ ?
โพ. ข้าแต่สมมติเทพ ยักษ์ทั้งหลายกลัวพระขรรค์ แม้มนุษย์
ทั้งหลาย ก็กลัวพระขรรค์เหมือนกัน.
รา. ควรจะได้อะไรอย่างอื่นอีก ?
โพ. ข้าแต่สมมติเทพ เครื่องต้นเต็มพระสุวรรณภาชน์ของ
พระองค์.
รา. เพราะเหตุไร พ่อคุณ.
โพ. ข้าแต่สมมติเทพ เพราะว่า ธรรมดาการนำโภชนาหาร
ที่เลว ๆ บรรจุถาดดิน คือกระเบื้องไป ไม่สมควรแก่ชายชาติบัณฑิต
ผู้เช่นกับข้าพระพุทธเจ้า.
พระราชาตรัสสั่งว่าแล้ว พ่อคุณ ทรงประทานทุกอย่าง แล้ว
ทรงมอบให้คนรับใช้พระโพธิสัตว์ไป. พระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่สมมติ-
เทพ ขอพระองค์อย่าทรงกลัว วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าจักทรมานยักษ์
ทำความสวัสดีแต่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วจึงจะมา. ถวายบังคม
พระราชา แล้วให้คนถือเครื่องอุปกรณ์ไป ณ ที่นั้น ให้คนทั้งหลาย
ยืนอยู่ไม่ไกลต้นไม้ สวมฉลองพระบาททองคำขัดพระขรรค์ กั้น
เศวตรฉัตรบนศีรษะ ถือภัตตาหารบรรจุถาดทองคำไปยังสำนักของยักษ์.

ยักษ์มองดูทาง เห็นพระโพธิสัตว์นั้น แล้วจึงคิดว่า ชายคนนี้ไม่มา
โดยทำนองการมาในวันอื่น ๆ จักมีเหตุอะไรหนอ ? พระโพธิสัตว์ไป
ใกล้ต้นไม้ เอาปลายดาบผลักถาดภัตตาหารเข้าไปภายในร่มไม้ ตนเอง
ยืนอยู่สุดร่มไม้นั่นเอง กล่าวคาถาที่ 1 ว่า :-
ดูก่อนมีเทพ ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรนี้
พระราชาทรงส่งภัตตาหารเจือด้วยเนื้อสะอาด
มาให้ท่าน ขอท่านจงออกมารับประทานเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเหสิ ความว่า ทรงส่งมา.
บทว่า มฆเทวสฺมึ อธิวตฺเถ ความว่า ต้นไทร เขาเรียกว่า มฆเทพ
พระโพธิสัตว์เรียกเทวดาว่า ท่านผู้สิงอยู่ในต้นไทรนั้น.
ยักษ์ได้ฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า เราจักลวงชายคนนี้ให้เข้ามา
ภายในร่มไม้ แล้วจึงจะกิน ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาที่ 2 ว่า :-
มาเถิดมาณพ จงถือเอาภัตตาหารผสม-
ด้วยกับข้าว จงมาเถิดมาณพ ท่านจงกินเถิด
เราทั้ง 2 จักกินด้วยกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขํ ได้แก่ ภัตตาหารประจำ.
บทว่า สูปิตํ ความว่า ถึงพร้อมด้วยกับข้าว.
ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถา 2 คาถาว่า :-

ดูก่อนยักษ์ ท่านจักละทิ้งประโยชน์มาก
มาย เพราะเหตุเล็กน้อย คนทั้งหลาย
ผู้ระแวงความตาย จักไม่นำภิกษาหาร มาให้
ท่าน ดูก่อนยักษ์ ภัตตาหารที่เรานำมานี้ เป็น
ของดี เป็นภัตตาหารประจำของท่าน เป็น
ของสะอาด ประณีต ประกอบด้วยรสอร่อย
ถ้าเมื่อท่านกินเราแล้วไซร้ คนที่จะนำภัตตาหาร
มาให้ท่าน จะหาได้ยากในที่นี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ถูลฺลมตฺถํ ความว่า พระโพธิสัตว์
แสดงว่า ท่านจักละประโยชน์มากมาย เพราะเหตุประมาณเล็กน้อย.
บทว่า นาหริสฺสนฺติ ความว่า จำเดิมแต่นี้ไป คนทั้งหลายผู้ระแวง
ความตาย จักไม่นำภัตตาหารมาให้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านก็จักเป็นผู้
ไม่มีอาหาร มีกำลังน้อยเหมือนต้นไม้ ที่มีกิ่งเหี่ยวแห้งแล้วดังนี้. บทว่า
ลทฺธายํ ความว่า เป็นของดี คือเป็นของที่มาดี มีอธิบายว่า สหาย
ยักษ์ วันนี้เราภิกษาหารมา ภิกษาหารที่เรานำมานี้ เป็นภิกษาหาร
ประจำของท่าน เป็นของสะอาด ประณีต ประกอบด้วยรสที่ยอดเยี่ยม
เป็นสิ่งที่มาดี คือจักมาหาท่านทุกวัน. บทว่า อาหริโย ได้แก่
เป็นผู้นำมา มีอธิบายว่า ถ้าหากท่านจะกินเรา ผู้ถือภิกษาหารนี้มาให้

ไซร้ ภายหลังเมื่อเราถูกกินอย่างนี้ แล้วคนอื่นผู้จะนำภิกษาหารมาให้
ท่าน จักหาได้ยากมากในที่นี้. เพราะเหตุไร ? เพราะคนอื่นที่เป็นคน
ฉลาดเช่นกับเรา ในเมืองพาราณสีไม่มี. แต่เมื่อเราถูกกินแล้ว คน
ทั้งหลายก็จะพูดว่า ยักษ์กินคนชื่อสุตนะ มันไม่ละอายใจต่อใครคนอื่น
เลย. ท่านก็จักไม่ได้คนนำภัตตาหารมาให้. เมื่อเป็นเช่นนั้น เริ่มต้น
แต่นี้ไป โภชนาหารจักเป็นสิ่งที่หาได้ยากสำหรับท่าน. ฝ่ายท่านก็จัก
จับพระราชาของเราไม่ได้. เพราะเหตุไร ? เพราะการยืนอยู่นอกต้นไม้
แต่ถ้าท่านรับประทานภัตตาหารนี้ แล้วจักส่งเราไปไซร้ เราก็จักทูล
พระราชาให้ทรงสั่งภัตตาหารประจำแก่ท่าน. เราแม้ตนเองก็จักไม่ให้
ท่านกิน. เพราะว่า เราจักไม่ยืนอยู่ในสำนักของท่าน จักยืนบนฉลอง
พระบาท ทั้งจักไม่ยืนใต้ร่มไม้ของท่าน. เราจักยืนใต้ร่มฉัตรของตน
เท่านั้น. แต่ถ้าท่านจักต่อสู้กับเรา เราก็จักใช้พระขรรค์นี้ ฟันท่าน
ออกเป็น 2 ท่อน เพราะวันนี้ เราเป็นผู้เตรียมตัวแล้ว จึงมาเพื่อ
ประโยชน์นี้เท่านั้น. ได้ทราบว่า พระมหาสัตว์ขู่ยักษ์นั้นอย่างนี้.
ยักษ์สังเกตเห็นว่า มาณพพูดถูกแบบ มีจิตเลื่อมใส ได้กล่าว
คาถา 2 คาถา ว่า :-
ดูก่อนสุตนะ ประโยชน์ตามที่ท่านพูดถึง
ย่อมเจริญแก่เราทีเดียว เราอนุญาตแล้ว ท่าน
จงไปหามารดาโดยสวัสดีเถิด ดูก่อนมาณพ

ท่านเอาจงพระขรรค์, ฉัตรและฉลองพระบาท
ไปเถิด มารดาของท่านก็จงเห็นท่าน และท่าน
ก็จงเห็นมารดา โดยสวัสดีเถิด.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้น. ยักษ์เรียกพระโพธิสัตว์ว่า สุตนะ.
บทว่า ยถา ภาสสิ ความว่า ประโยชน์ของเรานั่นเอง ตามที่ท่าน
พูดถึง ย่อมเจริญแก่เราทีเดียว.
พระโพธิสัตว์ได้ยินคำของยักษ์นั้น แล้วปลื้มใจว่า งานของเรา
สำเร็จแล้ว ยักษ์เราทรมานได้แล้ว เราได้ทรัพย์จำนวนมาก ทั้งได้
ปฏิบัติตามพระราชดำรัสแล้ว เมื่อจะทำการอนุโมทนา จึงได้กล่าวคาถา
สุดท้าย ว่า :-
ดูก่อนยักษ์ ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุข
พร้อมกับญาติทั้งหมดเหมือนกัน. เราได้ทั้ง
ทรัพย์ ทั้งได้ปฏิบัติตามพระราชดำรัส.

ก็แหละพระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวคาถาแล้ว ก็เรียกยักษ์มา แล้ว
บอกอานิสงส์ศีลและโทษทุศีลว่า ดูก่อนสหาย เมื่อก่อนท่านทำอกุศล-
กรรมไว้ จึงเกิดเป็นคนกักขละหยาบคาย มีเนื้อเลือดผู้อื่นเป็นภักษา-
หาร ต่อแต่นี้ไป ท่านอย่าได้ทำอกุศลกรรม มีปาณาติบาตเป็นต้น
แล้วให้ยักษ์ตั้งอยู่ในศีล 5 กล่าวว่า ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยการ
อยู่ในป่า มาเถิด เราจะให้ท่านนั่งที่ประตูพระนคร แล้วทำให้มีลาภ

มีภัตตาหารที่เลิศเป็นต้น ออกไปกับยักษ์ ให้ยักษ์นั่นแหละถือพระขรรค์
เป็นต้น ได้ไปเมืองพาราณสี. อำมาตย์ทั้งหลายพากันกราบทูลพระราชา
ว่า สุตนมาณพพายักษ์มา. พระราชามีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม ทำการ
ต้อนรับ. พระโพธิสัตว์ ให้ยักษ์นั่งที่ประตูนคร ทำให้เขามีลาภ มีภัตตาหาร
ที่เลิศเป็นต้น แล้วเสด็จเข้าพระนคร ทรงให้ตึกลองเที่ยวประกาศ
ให้ชาวพระนครประชุมกัน ตรัสบอกคุณงามความดีของพระโพธิสัตว์
แล้วโปรดเกล้า ๆ พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่พระโพธิสัตว์ และ
พระองค์เองก็ทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงทำบุญทั้งหลาย
มีทานเป็นต้น แล้วได้ทรงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาทรงประกาศ
สัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม
พระภิกษุผู้เลี้ยงมารดาได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. ยักษ์ในครั้งนั้น ได้แก่
พระองคุลิมาลในบัดนี้ พระราชา ได้แก่ พระอานนท์ ส่วนมาณพ
ได้แก่ เราตถาคตฉะนั้นแล.
จบ อรรถกถาสุตนชาดกที่ 3

4. คิชฌชาดก



ว่าด้วยเมื่อถึงคราวพินาศความคิดย่อมวิบัติ



[990] ท่านเหล่านั้น พ่อแม่ของเราแก่เฒ่าแล้ว
อาศัยอยู่ที่ซอกเขาจักทำอย่างไรหนอ เราก็ติด
บ่วง ตกอยู่ในอำนาจของนายพรานนิลิยะ.
[991] แร้ง เจ้าโอดครวญทำไม การโอด
ครวญของเจ้าจะมีประโยชน์อะไรเล่า ข้าไม่
เคยได้ยินหรือไม่เคยเห็นนกพูดภาษาคนได้
เลย.
[992] เราเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า แล้วอาศัยอยู่ที่
ซอกเขา ท่านจักทำอย่างไรหนอ เมื่อเราตก
อยู่ในอำนาจของท่านแล้ว.
[993] ชาวโลกพูดกันว่า แร้งมองเห็นซากศพ
ไกลถึงร้อยโยชน์ เหตุไฉนเจ้าแม้เข้าไปใกล้
ข่ายและบ่วงแล้ว จึงไม่รู้จัก.
[994] เมื่อใดความเสื่อมจะมี และสัตว์จะมี
ความสิ้นชีวิต เมื่อนั้นเขาแม้จะเข้าไปใกล้
ตาข่ายและบ่วง แล้วก็ไม่รู้จัก.